1. จิก
Barringtonia acutangula Gaertn.
BARRINGTONIACEAE
ชื่ออื่น กระโดนทุ่ง กระโดนน้ำ จิกน้ำ ตอง

รูปลักษณะ
ไม้ต้นผลัดใบ สูง 5-15 เมตร ลำต้นเป็นปุ่มปม ปลายกิ่งลู่ลง ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับถี่ตอนปลายกิ่ง รูปใบหอกหรือรูปไข่กลับ กว้าง 10-13 ซม. ยาว 20-30 ซม. ปลายจะผายกว้างแล้วแหลม โคนแหลมขอบจักถี่ ดอก ออกเป็นช่อยาวที่ปลายกิ่งสีแดง ห้อยลง ยาว 30-40 ซม. กลีบเลี้ยง 4 กลีบ หลุดร่วงง่าย เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. เกสรตัวผู้สีแดงจำนวนมาก ผลกลมยาว เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. ยาว 3-4 ซม. มีสันตามยาว 4 สัน
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เมล็ด - ใช้เป็นยาแก้ไอในเด็ก เข้ายาลม ใช้แก้อาการจุกเสียด
ใบแก่ - แก้ท้องร่วง
เปลือกต้น - ใช้เบื่อปลา


 

2. ชะมวง
Garcinia cowa Roxb.
CLUSIACEAE
ชื่ออื่น กระมวง มวงส้ม หมากโมก

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง สูง 15-30 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี แกมใบหอก กว้าง 2-3.5 ซม. ยาว 7-15 ซม. เนื้อใบหนาและเหนียว ผิวใบเป็นมัน ดอก แยกเพศอยู่คนละต้น ดอกตัวผู้ออกเป็นกระจุก มีดอกย่อยหลายดอก กลีบดอกสีเหลืองหรือชมพูถึงแดง ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว ผลเป็นผลสด รูปค่อนข้างกลม เมื่อสุกสีเหลืองแกมส้มหม่น
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบและผล - แก้กระหายน้ำ ระบายท้อง แก้ไข้


 

3. ชะเอมไทย
Albizia myriophylla Benth.
FABACEAE
ชื่ออื่น ชะเอมป่า ตาลอ้อย ส้มป่อยหวาน อ้อยช้าง ย่านงาย

รูปลักษณะ
ไม้เถายืนต้น มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ยาว 10-15 ซม. โคนก้านใบป่องออก ใบย่อยรูปขอบขนานี่ ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่ง ลักษณะเป็นพู่ กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม ผลเป็นฝัก สีเหลืองถึงน้ำตาล ตรงที่เป็นเมล็ดจะมีรอยนูนเห็นชัด
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ราก - มีรสหวาน ใช้เป็นยาแก้ไอ กระหายน้ำ ยาระบาย
ผล - ขับเสมหะ
เนื้อไม้ - มีรสหวาน แก้โรคในคอ แก้ไอขับเสมหะ การศึกษาทางเคมีพบว่า สารที่ให้ความหวาน เป็นน้ำตาลกลูโคสและซูโครส


 

4. ปีบ
Indian Cork Tree
Millingtonia hortensis Linn. f.
BIGNONIACEAE
ชื่ออื่น กาซะลอง กาดสะลอง

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 15-25 เมตร ใบประกอบแบบขนนก 2-3 ชั้น เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 1.5-2.5 ซม. ยาว 3-5 ซม. ี่ ดอกช่อขนาดใหญ่ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว เป็นหลอดยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลิ่นหอม ผลเป็นฝักแบน
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ดอกแห้ง - ใช้มวนเป็นบุหรี่สูบแก้หืด
ราก - บำรุงปอด แก้หอบ พบว่าในดอกมีสาร hispidulin ซึ่งระเหยได้ และมีฤทธิ์ขยายหลอดลม


 

5. เพกา
Oroxylum indicum (Linn.) Kurz
BIGNONIACEAE
ชื่ออื่น มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิดไม้ ลิ้นฟ้า

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 3-12 เมตร แตกกิ่งก้านเล็กน้อย ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ขนาดใหญ่ เรียงตรงข้าม รวมกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 ซม. ยาว 6-12 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด ก้านช่อดอกยาว ดอกย่อยขนาดใหญ่กลีบดอกสีนวลแกมเขียวโคนกลีบเป็นหลอดสีม่วง หนาย่น บานกลางคืน ผลเป็นฝัก รูปดาบ เมื่อแก่จะแตก ภายในมีเมล็ดแบน สีขาว มีปีกบางโปร่งแสง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เมล็ด - ใช้เป็นยาแก้ไอขับเสมหะ ยาระบาย
ราก - เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ท้องร่วง


 

6. พุทรา
Zizyiphus mauritiana Lamk.
RHAMNACEAE
ชื่ออื่น มะตัน

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมวงรี กว้าง 2-6 ซม. ยาว 3-8 ซม. ท้องใบจะมีขนสีน้ำตาลหรือขาว หลังใบสีเขียวเข้ม ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเขียวอ่อนหรือเหลืองอ่อน ผลเป็นผลสด รูปทรงกลม หรือรูปกระสวย เมื่อสุกสีเหลือง กินได้
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผลแห้งหรือใบ - ใช้ปิ้งไฟก่อนชงน้ำดื่ม แก้ไอ


 

7. มะขาม
Tamarind
Tamarindus indica Linn.
FABACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 15-25 เมตร ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 5-8 ซม. ยาว 1-1.5 ซม. ดอกช่อ ออกที่ซอกใบและปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง มีลายสีม่วงแดง ผลเป็นฝัก มีเนื้อหุ้มเมล็ด สีน้ำตาล ฉ่ำน้ำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
มะขามเปียก - ใช้เป็นยาถ่าย และยาแก้ไอกัดเสมหะที่เหนียวข้น เนื่องจากมีกรดอินทรีย์ เช่น กรด trataric และกรด citric
เปลือกต้น - เป็นยาสมานคุมธาตุ
เนื้อในเมล็ด - ใช้เป็นยาฆ่าพยาธิไส้เดือน
ใบและยอดอ่อน - มีรสเปรี้ยว ใช้ในการอาบ อบสมุนไพร


 

8. มะขามป้อม
Emblic Myrobalan, Malacca Tree
Phyllanthus emblica Linn.
EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น กำทวด

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 8-20 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน กว้าง 0.25-0.5 ซม. ยาว 0.8-1.2 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกย่อยสีนวล ผลเป็นผลสด รูปกลม ผิวเรียบ มีเส้นพาดตามยาว 6 เส้น เมล็ด กลม สีเขียวเข้ม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เนื้อผลแห้งหรือสด - รับประทานขับเสมหะ ทำให้ชุ่มคอ ผลแห้งต้มกินแก้ไข้ น้ำคั้นผลสดแก้ท้องเสีย ขับปัสสาวะ มีวิตามินซีใช้แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน


 

9. มะกรูด
Leech Lime
Citrus hystrix DC.
RUTACEAE
ชื่ออื่น มะขุน มะขูด ส้มกรูด

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 2-8 เมตร ใบและดอกคล้ายมะนาว ใบ รูปค่อนข้างกลม กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 3-8 ซม. ก้านใบมีครีบขนาดใหญ่เท่าตัวใบ ผลเป็นผลสด รูปร่างค่อนข้างกลม ผิวขรุขระ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
น้ำมะกรูด - ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน ใช้สระผมกันรังแค
ผิวมะกรูด - ใช้เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง


 

10. มะดัน
Garcinia schomburgkiana Pierre
CLUSIACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 3-7 เมตร ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน รูปใบหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 2-3 ซม. ยาว 5-8 ซม. ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกสีเหลืองส้ม ผลเป็นผลสด รูปกระสวย รสเปรี้ยวจัด
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบและเนื้อผล - ใช้ทำยาดอกเปรี้ยวเค็ม เป็นยาแก้ไอ ฟอกเสมหะ แก้ประจำเดือนผิดปกติ
ผล - ดองน้ำเกลือกิน แก้น้ำลายเหนียว เป็นเมือกในคอ


 

11. มะนาว
Lime
Citrus aurantifolia (Christm. et Panz.) Swing.
RUTACEAE
ชื่ออื่น ส้มมะนาว

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 2-4 เมตร กิ่งอ่อนมีหนาม ใบประกอบชนิดมีใบย่อยใบเดียว เรียงสลับ รูปไข่ รูปวงรีหรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 4-8 ซม. เนื้อใบมีจุดน้ำมันกระจาย ก้านใบมีครีบเล็ก ๆ ดอกเดี่ยวหรือช่อ ออกที่ปลายกิ่งและที่ซอกใบ กลีบดอกสีขาว กลิ่นหอม ร่วงง่าย ผลเป็นผลสด กลมเกลี้ยง ฉ่ำน้ำ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
น้ำมะนาวและผลดองแห้ง - รับประทานเป็นยาแก้ไอขับเสมหะ น้ำมะนาวเป็นกระสายยาสำหรับสมุนไพรที่ใช้ขับเสมหะอื่น ๆ เช่น ดีปลี นอกจากนี้ยังใช้แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน เพราะมีวิตามินซี


 

12. มะแว้งต้น
Solanum sanitwongsei Craib
SOLANACEAE

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 1-1.5 เมตร ลำต้นมีขนนุ่ม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปขอบขนาน กว้าง 4-10 ซม. ยาว 6-12 ซม. ขอบใบเว้า ผิวใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ดอกช่อ ออกตามกิ่งหรือที่ซอกใบ กลีบดอกสีม่วง ผลเป็นผลสด รูปกลม ผลดิบ สีเขียวอ่อน ไม่มีลาย เมื่อสุกสีส้ม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผล - ใช้แก้ไอขับบเสมหะ รักษาเบาหวาน ขับปัสสาวะ พบสเตอรอยด์ปริมาณค่อนข้างสูง จึงไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน มะแว้งต้นเป็นส่วนผสมหลักในยาประสะมะแว้ง ซึ่งองค์การเภสัชกรรมผลิตขึ้นตามตำรับยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ


 

13. มะแว้งเครือ
Solanum trilobatum Linn.
SOLANACEAE
ชื่ออื่น แขว้งเครือ

รูปลักษณะ
ไม้เลื้อย มีหนามตามกิ่งก้าน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง 4-5 ซม. ยาว 5-8 ซม. ขอบใบเว้า มีหนามตามเส้นใบ ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ กลีบดอกสีม่วง ผลเป็นผลสด รูปกลม ผลดิบสีเขียวมีลายตามยาว เมื่อสุกสีแดง
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผล - ใช้แก้ไอขับเสมหะ โดยใช้ขนาด 4-10 ผล โขลกพอแหลก คั้นเอาน้ำใส่เกลือเล็กน้อย จิบบ่อย ๆ หรือเคี้ยวกลืนเฉพาะน้ำจนหมดรสขมเฝื่อน มะแว้งเครือเป็นส่วนผสมหลักในยาประสะมะแว้งเช่นกัน นอกจากนี้ ใช้ขับปัสสาวะแก้ไข้และเป็นยาขมเจริญอาหาร


 

14. ว่านกาบหอยใหญ่
Tradescantia spathacea Swartz
(Rhoeo discolor (L'Herit.) Hance)
COMMELINACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ล้มลุก สูง 30-60 ซม. ใบเดี่ยว ออกเป็นกระจุกเหนือดิน กว้าง 3-5 ซม. ยาว 15-45 ซม. หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีม่วงแดง ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ใบประดับขนาดใหญ่คล้ายรูปเรือ กลีบดอกสีขาว ผลแห้ง แตกได้ รูปกระสวย
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้ต้มกับน้ำ เอาน้ำดื่มแก้ไอ เจ็บคอ และกระหายน้ำ


 

15. สำรอง
Scaphium macropodum Beaum.
STERCULIACEAE
ชื่ออื่น พุงทะลาย

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง ประมาณ 4-5 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 10-12 ซม. ยาว 15-25 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง แยกเพศ กลีบดอกสีเขียวอ่อน มีขนสีแดงที่กลีบเลี้ยง ผลแห้ง มีลักษณะแผ่เป็นแผ่นขนาดใหญ่ แตกขณะยังอ่อนอยู่ ทำให้มีลักษณะเหมือนเรือ มีเมล็ดรูปรี สีน้ำตาล เปลือกหุ้มเมล็ดชั้นนอกมีสารเมือกจำนวนมาก ซึ่งจะพองตัวในน้ำ มีลักษณะคล้ายวุ้น
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เนื้อผลที่พองตัว - ใช้เป็นยาแก้ไอ แก้ร้อนใน


 

16. ส้มป่อย
Acacia concinna (Willd.) DC.
FABACEAE
ชื่ออื่น ส้มขอน

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มรอเลื้อย มีหนามตามลำต้น กิ่ง ก้านและใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ ยาว 7-20 ซม. ใบย่อยรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ เป็นช่อกลม กลีบดอกเป็นหลอด สีนวล ผลเป็นฝัก สีน้ำตาลดำ ผิวย่นขรุขระ ขอบมักเป็นคลื่น
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ฝัก - มีสารออกฤทธิ์กลุ่มซาโปนินสูงถึง 20.8% ได้แก่ acacinius A, B, C, D และ E ซึ่งถ้าตีกับน้ำจะเกิดฟองที่คงทนมาก ใช้สระผมแก้รังแค ต้มน้ำอาบหลังคลอด หรือชุบสำลีปิดแผลโรคผิวหนัง ฝักกินเป็นยาขับเสมหะ แก้น้ำลายเหนียว


 

17. ส้มเสี้ยว
Bauhinia malabarica Roxb.
FABACEAE
ชื่ออื่นคังโค แดงโค เสี้ยวส้ม เสี้ยวใหญ่

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 5-10 เมตร ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง แยกเป็นสองพู กว้างและยาว 10-15 ซม. ใบมีรสเปรี้ยว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีชมพูอ่อน ผลเป็นฝักรูปดาบ
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
รากและลำต้น - ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ
ดอก - แก้เสมหะพิการ
ใบ - มีรสเปรี้ยวฝาด ใช้แก้ไอและฟอกโลหิต


 

18. หนุมานประสานกาย
Schefflera leucantha Vig.
ARALIACEAE

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มแกมเถา สูง 1-4 เมตร ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับ ใบย่อยรูปวงรี หรือรูปใบหอก กว้าง 1.5-3 ซม. ยาว 5-8 ซม. ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่ง กลีบดอกสีนวล ผลเป็นผลสด รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบสด - ใช้แก้ไอ และแก้อาเจียนเป็นเลือด ใช้ตำพอกแผลเพื่อห้ามเลือด และสมานแผล พบว่าสารสกัดจากใบ มีสารซาโปนิน ซึ่งมีฤทธิ์ขยายหลอดลม