1. แก้ว
Murraya paniculata (Linn.) Jack
RUTACEAE
ชื่ออื่น ตะไหลแก้ว จ๊าพริก

รูปลักษณะ
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ถึง 5 เมตร
ใบประกอบแบบขนนกชนิดที่มีใบยอด 1 ใบ ใบย่อยมี 7-9 ใบ ใบย่อยยาว กว้าง 1-1.5 ซม.
ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวมี 5 กลีบ หอม
ผลรี รูปไข่ ผลสุก สีแดง ออกดอกตลอดปี
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ใบ - ใช้เป็นยาขับพยาธิตัวตืด เคี้ยวอมแก้ปวดฟัน แก้บิด และท้องเสีย


 

2. ทับทิม
Pomegranate

Punica granatum Linn.
PUNICACEAE
ชื่ออื่น พิลา พิลาขาว มะก่องแก้ว มะเก๊าะ

รูปลักษณะ
ไม้พุ่ม สูง 2 - 5 เมตร กิ่งเล็กๆ มักเปลี่ยนเป็นหนามแหลม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีแกมขอบขนาน กว้าง 1 - 2 ซม. ยาว 4 - 6 ซม. ใบอ่อนมีสีแดง
ดอกเดี่ยว หรือช่อ 2 - 5 ดอก ออกที่ซอกใบและปลายยอด กลีบดอกสีส้มแดง ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงหนาแข็ง สีส้ม แกมเหลือง
ผลเป็นผลสด รูปกลม
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เปลือกผล - ใช้เปลือกผลแก่ตากแห้ง รักษาอาการท้องร่วง ขนาดที่ใช้คือ เปลือกผลแห้ง ประมาณ 1 ใน 4 ผล ฝนหับน้ำให้ข้นๆ กินวันละ 1 - 2 ครั้ง การกินขนาดสูงอาจเป็นอันตรายได้ นอกจากนี้ ใช้ฝนกับน้ำทาแก้น้ำกัดเท้า พบว่ามีสารแทนนิน และกรดแทนนิกซึ่งช่วยฝาดสมาน
เปลือกราก, เปลือกต้น - มีสาร pelletierine และ isopelletierine ซึ่งเป็นพิษจึงไม่ควรใช้


 

3. มะเกลือ
EbonyTree

Diospyros mollis Gagnep.
EBENACEAE
ชื่ออื่น ผีเผา มักเกลือ

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูงได้ถึง 30 เมตร
ใบเดี่ยว เรียงสลับรูปไข่ หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-7 ซม. สีเขียวเข้ม เมื่อแห้งสีดำ
ดอกออกที่ซอกใบ แยกเพศ อยู่คนละต้น ดอกตัวผู้ออกเป็นช่อสั้นๆ ประมาณ 3 ดอก ดอกตัวเมียเป็นดอกเดี่ยว กลีบดอกสีเหลือง
ผลสด รูปกลมเกลี้ยง ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีดำ มีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดอยู่ที่ขั้วผล
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ผลดิบสด - ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิได้หลายชนิด ถ่ายพยาธิปากขอได้ดีที่สุด เด็กอายุ 10 ปีใช้ 10 ผล ผู้ที่อายุมากกว่า 10 ปี ให้เพิ่มจำนวนขึ้น 1 ผลต่อ 1 ปี แต่สูงสุดไม่เกิน 25 ผล คือผู้ที่อายุ 25 ปีขึ้นไปกิน 25 ผลเท่านั้น ล้างให้สะอาด ตำพอแหลก กรองเอาเฉพาะน้ำผสมหัวกะทิ 2 ช้อนชาต่อมะเกลือ 1 ผล กินครั้งเดียวให้หมดตอนเช้ามืด ก่อนอาหาร 3 ชั่วโมง หลังจากนี้ 3 ชั่วโมง ถ้าไม่ถ่ายให้กินยาระบายดีเกลือ โดยใช้ผงดีเกลือ 2 ช้อนโต๊ะ ละลายน้ำ ประมาณครึ่งแก้ว เพื่อถ่ายพยาธิ และตัวยาที่เหลือออกมา สารที่มีฤทธิ์คือ diospyrol diglucoside
ข้อควรระวัง
ผู้ที่ห้ามใช้มะเกลือได้แก่ เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี หญิงมีครรภ์ หรือหลังคลอดไม่เกิน 6 สัปดาห์ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหาร หรือมีอาการปวดท้อง ถ่ายอุจจาระผิดปกติบ่อยๆ และผู้ที่กำลังเป็นไข้ ในการเตรียมยาต้องใช้ผลดิบสด เตรียมแล้วกินทันที ไม่ควรเตรียมยาครั้งละมากๆ ใช้เครื่องบดไฟฟ้า จะทำให้ละเอียดมาก มีตัวยาออกมามากเกินไป
ข้อควรระวัง
เคยมีรายงานว่าถ้ากินยามะเกลือขนาดสูงกว่าที่ระบุไว้ หรือเตรียมไว้นาน สารสำคัญจะเปลี่ยนเป็นสารพิษชื่อ diospyrol ทำให้จอรับภาพ และประสาทตาอักเสบ อาจตาบอดได้


 

4. มะเฟือง
Carambola

Averrhoa carambola Linn.
AVERRHOACEAE

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 3-5 เมตร
ใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับใบย่อยรูปขอบขนานแกมใบหอก กว้าง 22-3.5 ซม. ยาว 3-9 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็ก กลีบดอกสีชมพูแกมม่วง
ผลเป็นผลสด อวบน้ำ ยาว 7-14 ซม. มีสันโดยรอบ 5 สัน ผลดิบสีเขียว ผลสุกสีเหลือง มีรสเปรี้ยวอมหวาน
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
ดอก - ใช้เป็นยาขับพยาธิ
ใบและราก - แก้ไข้
ผล - ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับเลือดเสีย


 

5. มะหาด
Artocarpus lakoocha Roxb.
MORACEAE
ชื่ออื่น หาด ขนุนป่า มะหาดใบใหญ่

รูปลักษณะ
ไม้ยึนต้น สูงประมาณ 30 เมตร ทรงพุ่มแผ่กว้าง
ใบ เดี่ยว เรียงสลับรูปขอบขนาน หรือรูปวงรี กว้าง 8-10 ซม. ยาว 10-12 ซม. หลังใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ท้องใบสาก
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ ค่อนข้างกลม ก้านสั้น แยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน
ผล เป็นผลรวม สีเหลือง ผิวขรุขระ มีขนนุ่น
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
นำเนื้อไม้มาเคี่ยวกับน้ำ กรองเนื้อไม้ออก บีบน้ำออกให้แห้ง จะได้ผงสีนวลจับกันเป็นก้อน ย่างไฟให้เหลือง เรียกว่า ปวกหาด ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิเส้นด้าย พยาธิไส้เดือน และพยาธิตัวตืด สารที่ออกฤทธิ์คือ 2,4,3',5' -tetrahydroxystibene ละลายผงปวกหาดจำนวน 3 กรัม ในน้ำเย็น ดื่มช่วงเช้ามืด ก่อนอาหาร หลังจากนั้น 2 ชั่วโมง ให้กินยาถ่าย เช่น ดีเกลือ เพื่อถ่ายตัวพยาธิ


 

6. เล็บมือนาง
Rangoon Creeper

Quisqualis indica Linn.
COMBRETACEAE
ชื่ออื่น จะมั่ง จ๊ามั่ง มะจีมั่ง

รูปลักษณะ
ไม้เถา เนื้อแข็ง ต้นแก่มักมีกิ่งที่เปลี่ยนเป็นหนาม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 5 - 8 ซม. ยาว 10 - 16 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ บริเวณปลายกิ่ง กลีบดอกสีแดง โคนกลีบเลี้ยงเป็นหลอดเรียวยาว สีเขียว
ผลแห้ง รูปกระสวย มีเปลือกแข็งสีน้ำตาลเข้ม มีสันตามยาว 5 สัน
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เนื้อในเมล็ดแห้ง - ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน สำหรับเด็ก กินครั้งละ 2 - 3 เมล็ด และผู้ใหญ่ครั้งละ 4 - 5 เมล็ด โดยนำมาป่นเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอน หรือต้มเอาน้ำดื่ม หรือทอดกับไข่กินก็ได้ สารที่มีฤทธิ์ขับพยาธิ เป็นกรดอะมิโน ชื่อกรด quisqualic


 

7. สะแกนา
Combretum quadrangulare Kurz
COMBRETAEAE
ชื่ออื่น แก ขอนแข้ จองแข้ แพ่ง สะแก

รูปลักษณะ
ไม้ยืนต้น สูง 5 - 10 เมตร กิ่งอ่อนเป็นรูปเหลี่ยม
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรี หรือรูปไข่กลับ กว้าง 3 - 8 ซม. ยาว 6 - 15 ซม.
ดอกช่อ ออกที่ซอกใบ และปลาดยอด ดอกย่อยมีขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว
ผลแห้ง มี 4 ครีบ เมล็ดสีน้ำตาลแดง รูปกระสวย มี 4 สันตามยาว
สรรพคุณและส่วนที่นำมาใช้เป็นยา
เมล็ดแก่ - ใช้ขับพยาธิไส้เดือน และพยาธิเส้นด้ายในเด็ก โดยใช้ขนาด 1 ช้อนคาว หรือ 3 กรัม ตำผสมกับไข่ทอดกินครั้งเดียว ขณะท้องว่าง